กระ ทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

กระ สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

กระ จุดสีน้ำตาลที่มาเยือนใบหน้าเกิดจากอะไรบ้าง? ทิ้งร่องรอยจากหลากหลายสาเหตุ จะมีวิธีรักษาอะไรบ้าง? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผิวขาดเกราะป้องกันที่แข็งแรง ระดับความรุนแรงและลักษณะอาการของกระก็แตกต่างกันไป ในยุคปัจจุบัน การรักษากลายเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ เพราะกระที่ปรากฏบนใบหน้านั้น

อาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างความไม่มั่นใจ ต้องคอยปกปิดด้วยเครื่องสำอาง และอาจทำให้ดูมีอายุมากกว่าวัย ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาเป็นตัวช่วยในการดูแลผิวจากปัญหากระ

บทความนี้หมอตาลจะพามาทำความรู้จักกับกระให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการลดโอกาสการเกิดกระ พร้อมเผยเคล็ดลับสู่ผิวหน้ากระจ่างใส ดูอ่อนเยาว์อย่างเป็นธรรมชาติ

กระ คืออะไร

กระ หรือจุดด่างดำ คือลักษณะของผิวหนังที่ปรากฏเป็นจุดเล็ก ๆ แบน ๆ สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม มักพบได้ชัดเจนในผู้ที่มีผิวขาว หรือผู้ที่มีเชื้อสายผสมทางตะวันตกมากกว่าชาวตะวันออก โดยทั่วไปแล้ว กระจะเกิดขึ้นบนใบหน้า ลำคอ และแขน มักเริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จุดเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีขนาดและสีเข้มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ประเภทของกระ มีอะไรบ้าง

กระ ประเภทกระแดด กระตื้น กระลึก กระเนื้อ

กระสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. กระแดด
    กระแดดคือรอยสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่สัมผัสแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า ลำตัว แขน และหลังมือ ลักษณะเป็นจุดหรือปื้นสีน้ำตาล ขอบเขตชัดเจน ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร มักพบในผู้ที่มีผิวขาวและผู้สูงอายุ การสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานานเป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดกระแดด การรักษาทำได้โดยการทำทรีตเมนต์ร่วมกับการใช้เลเซอร์
  2. กระตื้น
    กระตื้นเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็ก มักมีสีเข้มขึ้นเมื่อโดนแสงแดด ลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ หรือเป็นลาย มักพบมากบริเวณโหนกแก้มและจมูกในผู้ที่มีผิวขาวและผิวบาง เนื่องจากผิวที่บางจะไวต่อแสงแดดมากกว่า การรักษาคล้ายกับกระแดด คือการทำทรีตเมนต์ควบคู่กับการใช้เลเซอร์
  3. กระลึก
    กระลึกมีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาล มักมีสีเข้มกว่ากระแดดและกระตื้น โดยอาจปรากฏเป็นแผ่นหรือปื้นสีน้ำตาลขนาดใหญ่ หรือเป็นเส้นรวมกันเป็นบริเวณกว้าง มักพบบริเวณใบหน้า เช่น แก้ม สันจมูก และหน้าผาก
  4. กระเนื้อ
    กระเนื้อมีลักษณะเด่นคือเป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูนขึ้นมาจากผิวหนัง รูปร่างและสีสันมีความหลากหลาย อาจคล้ายจุดสีเข้ม รอยปาน หรือมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก สีอาจเป็นสีน้ำตาล สีดำ หรือสีอื่น ๆ ขนาดโดยทั่วไปไม่ใหญ่มากนัก

กระเกิดจากสาเหตุอะไร

การเกิดกระมีปัจจัยสำคัญหลัก ๆ 3 อย่าง ได้แก่

  • เชื้อชาติและกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีผิวขาวมีแนวโน้มที่จะเกิดกระแดดได้ง่ายกว่าผู้ที่มีผิวคล้ำ และพบว่าลักษณะของกระสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมภายในครอบครัวได้
  • การสัมผัสแสงแดด/รังสีและความร้อน เช่นเดียวกับการเกิดฝ้า การเผชิญกับแสงแดด รังสี UV และความร้อนเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญในการเกิดกระ
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดกระได้เนื่องจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย

แตกต่างจากฝ้าอย่างไร

แม้ว่าคนส่วนใหญ่มักจะพูดถึงกระและฝ้าควบคู่กัน แต่ทั้งสองภาวะนี้มีความแตกต่างกันทั้งในลักษณะที่ปรากฏและความท้าทายในการรักษาด้วยเลเซอร์

  • กระ เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) เป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่บนผิวหนัง แม้ว่าเซลล์เหล่านี้จะไม่ได้ผลิตเม็ดสีมากกว่าเซลล์อื่น ๆ แต่การรวมตัวกันทำให้เกิดเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มที่เห็นได้ชัดเจนกว่าบริเวณรอบข้างที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีน้อยกว่า
  • ฝ้า มีลักษณะเป็นปื้นหรือวงสีน้ำตาลกว้าง มองเห็นขอบเขตชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากลักษณะที่เป็นจุดกระจายของกระ

เนื่องจากกระเกิดจากการรวมกลุ่มของเซลล์สร้างเม็ดสี การรักษากระจึงมักง่ายกว่าการรักษาฝ้า การเลเซอร์เพื่อทำลายเซลล์เม็ดสีที่รวมตัวกันนั้นสามารถช่วยให้ผิวกระจ่างใสขึ้นได้ ในขณะที่ฝ้ามีความซับซ้อนในการรักษามากกว่า และหากรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ฝ้ามีสีเข้มขึ้นหรือขยายวงกว้างขึ้นได้

แนวทางการรักษากระ

การรักษากระมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและความลึกของกระ รวมถึงความต้องการและสภาพผิวของแต่ละบุคคล

1. รักษากระด้วยสกินแคร์

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหลายชนิดมีส่วนผสมที่ช่วยลดเลือนกระและจุดด่างดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารสำคัญที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่

  • อัลฟาอาร์บูติน (Alpha Arbutin) ทำหน้าที่ยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานิน ช่วยให้กระและจุดด่างดำดูจางลง พร้อมปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ
  • ทราเนซามิก แอซิด (Tranexamic Acid) มีประสิทธิภาพในการลดการสร้างเม็ดสีผิว จึงช่วยลดเลือนทั้งฝ้าและกระได้ดี
  • อะซีลาอิก แอซิด (Azelaic Acid) ช่วยลดเลือนฝ้า กระ และจุดด่างดำ พร้อมทั้งลดการอักเสบของผิว
  • ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) หรือ วิตามินบี 3 ช่วยปรับสมดุลความชุ่มชื้นและน้ำมันในผิว ลดเลือนจุดด่างดำ กระชับรูขุมขน และปลอบประโลมผิว
  • ไกลโคลิก แอซิด (Glycolic Acid) หรือ AHA ช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นบน ทำให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้นและช่วยให้จุดด่างดำจางลง
  • สารสกัดจากรากชะเอมเทศ (Licorice Extract) ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีผิว ลดการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • วิตามินซีและวิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบและทำให้จุดด่างดำดูจางลง
  • สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น โกจิเบอร์รี่และมัลเบอร์รี่ มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดความหมองคล้ำของผิว
  • สารอื่น ๆ เช่น ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil), บีเอชเอ (BHA หรือ Salicylic Acid), และซิงก์ (Zinc) มีส่วนช่วยลดการอักเสบ ควบคุมความมัน และผลัดเซลล์ผิว

2.ยาใช้ภายนอกสำหรับการรักษากระ

ยาที่ใช้ทาเพื่อรักษากระมักมีส่วนผสมของสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินและช่วยผลัดเซลล์ผิวหนัง สารเหล่านี้ได้แก่

  • ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของหมอผู้เชี่ยวชาญ)
  • เรตินอยด์ (Retinoids) หรือ วิตามินเอในกลุ่มเรตินอยด์ ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตันของรูขุมขน และส่งเสริมการสร้างเซลล์ผิวใหม่
  • กรดผลไม้ (AHAs และ BHAs) ทำหน้าที่ผลัดเซลล์ผิวชั้นบน ทำให้รอยกระดูจางลง
  • สารต้านอนุมูลอิสระและสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น Vitamin C Vitamin E และสารสกัดจากรากชะเอมเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดเลือนรอยดำและปรับสภาพผิว

3. ยารับประทานสำหรับการรักษากระ

โดยทั่วไปแล้ว ยารับประทานที่ใช้ในการรักษากระมีจำนวนจำกัด และมักใช้ภายใต้การดูแลของหมอในบางกรณีเท่านั้น ตัวอย่างยาที่อาจใช้ ได้แก่

  • ยาเม็ดทราเนซามิก แอซิด (Tranexamic Acid): ในบางสถานการณ์ หมออาจสั่งจ่ายยานี้เพื่อช่วยลดเลือนฝ้าและกระ โดยมีกลไกการทำงานคือการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง
  • วิตามินเสริม: เช่น วิตามินซีและวิตามินอี ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยบำรุงสุขภาพผิวจากภายใน

4. การรักษาด้วยเลเซอร์

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลรวดเร็ว เหมาะสำหรับกระทุกประเภท

  • Pico Laser (Picoway) ใช้คลื่นแสงความถี่สูง ทำลายเม็ดสีเมลานินโดยไม่ทำลายผิวโดยรอบ เหมาะสำหรับกระลึก กระตื้น กระแดด และกระฮอร์โมน
  • QS-Nd-YAG Laser, Dual Yellow Laser, Fractional Laser และ CO2 Laser เป็นเลเซอร์ชนิดอื่น ๆ ที่นิยมใช้ โดยหมอจะพิจารณาเลือกชนิดที่เหมาะสมกับลักษณะของกระ
  • โดยทั่วไปต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และมีระยะพักฟื้นที่ไม่นาน

5. การฉีดผิว (Injection Therapy)

  • Rejuran: สารสกัดจาก DNA ปลาแซลมอน ช่วยซ่อมแซม บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ลดเลือนรอยกระและความหมองคล้ำ (ข้อควรระวัง: ผู้แพ้อาหารทะเลควรหลีกเลี่ยง)
  • Channel Injection: การฉีดสารบำรุงผิวหลายชนิด เพื่อฟื้นฟูผิวให้กระจ่างใส ลดรอยกระ (ข้อควรระวัง: ผู้ที่มีผิวมันควรปรึกษาหมอก่อน)

6. การจี้เย็น (Cryotherapy)

ใช้ไนโตรเจนเหลวเพื่อหยุดการขยายตัวของเซลล์กระเนื้อ

7. การทำทรีตเมนต์ (Platelet-Rich Plasma)

ใช้เลือดของตัวเองเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูผิว เหมาะสำหรับกระตื้นและผู้ที่ต้องการผลลัพธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป

8. การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ

การรับประทานผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง หรือการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น มะขามเปียก ขมิ้น ว่านหางจระเข้ อาจช่วยบำรุงผิวและลดเลือนกระได้บ้าง แต่ผลลัพธ์จะช้าและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การดูแลใบหน้าเมื่อเป็นกระ

การดูแลเมื่อเป็นกระก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที

ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยทาก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที และทาซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง เพื่อปกป้องผิวจากรังสี UV ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดกระและทำให้กระเข้มขึ้น รวมถึงการเลือกใช้สกินแคร์หรือเซรั่มที่มีส่วนผสมช่วยลดเลือนกระ อาทิ วิตามินซี ไนอะซินาไมด์ อาร์บูติน หรือทราเนซามิกแอซิด จะช่วยยับยั้งการผลิตเม็ดสีเมลานินและปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยฟื้นฟูและปกป้องผิวจากความเสียหาย

วิธีป้องกันการเกิดกระ

การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดกระและจุดด่างดำ สามารถทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม หรือสวมเสื้อผ้าแขนยาว เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด และพยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แดดจัด
  • ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีประสิทธิภาพ เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF และ PA สูง เพื่อปกป้องผิวจากรังสี UVA และ UVB ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกระและจุดด่างดำ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เข้ากับสภาพผิว และอาจมีส่วนผสมที่ช่วยควบคุมการผลิตเม็ดสีเมลานิน หรือลดการสะสมของเม็ดสีในผิว
  • รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ การบริโภคผักและผลไม้สดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสามารถช่วยลดความเสียหายของเซลล์ผิวและการอักเสบ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดกระ
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง งดเว้นการสัมผัสแสงแดดจัดโดยไม่มีการป้องกัน และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มโอกาสในการเกิดกระ

กระ หายเองได้ไหม

กระไม่หายเอง แต่การดูแลผิวที่ถูกต้อง การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุง และการป้องกันแสงแดด สามารถช่วยชะลอการเกิดและลดความเข้มของกระได้

สรุป

กระเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย ทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรมและการสัมผัสแสงแดด โดยสามารถแบ่งได้หลายประเภททั้งกระแดด กระตื้น กระลึก และกระเนื้อ ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและการรักษาที่แตกต่างกัน

แนวทางการดูแลมีตั้งแต่การใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของอัลฟาอาร์บูติน ทราเนซามิกแอซิด ไนอะซินาไมด์ ไปจนถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพ ที่ลลิษาคลินิก เรามีทีมหมอผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยพร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษากระแบบเฉพาะบุคคล เพื่อให้คุณมั่นใจในผิวหน้าที่กระจ่างใสและดูอ่อนเยาว์อย่างเป็นธรรมชาติ

แหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับข้อมูลกระ

Freckles: Causes and Types. Written by Stephanie Booth, Shawna SeedMedically Reviewed by Zilpah Sheikh, MD. October 13, 2024
https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/freckles-skin-spots

clevelandclinic. Freckles: What They Are, vs. Moles, Causes & Removal.05/23/2022.
https://my.clevelandclinic.org/health/articles/23091-freckles

healthline. What Are Freckles? Plus, When to See Your Doctor. Medically reviewed by Debra Sullivan, Ph.D., MSN, R.N., CNE, COI — Written by Elizabeth Connor. June 22, 2023
https://www.healthline.com/health/what-are-freckles

บทความโดย

ลลิษาคลินิก : คลินิกรักษาสิว ดูแลโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนัง (ตจวิทยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลปัญหาผิว

ใครที่กำลังเผชิญปัญหาผิวหน้า เป็นสิว ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้มากประสบการณ์ด้านผิวหนังที่ลลิษาคลินิกได้ ฟรี!! ที่ตั้งคลินิก เซ็นทรัลพระราม 9 ชั้น 9 (ติดบันไดเลื่อน) และ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ชั้น 4