สิวที่แก้ม เป็นแล้วไม่หายสักที เกิดจากอะไร? พร้อมบอกวิธีรักษาและป้องกัน

สาเหตุสิวที่แก้ม คืออะไร รักษาอย่างไร

สิวที่แก้ม

สิวที่แก้มคือปัญหาผิวหนังที่สามารถเกิดได้ทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ พบได้บ่อยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่พวกเราใส่หน้ากากอนามัยกันแทบตลอดทั้งวันในช่วงที่ผ่านมาซึ่งหมอพบเคสจากกรณีนี้หลายราย วันนี้จึงอยากมาพูดคุยกันผ่านบทความที่จะอธิบายให้ทุกท่านทราบถึงลักษณะ สาเหตุ วิธีการรักษา และการป้องกันสิวที่แก้ม รวมถึงตอบคำถามที่พบบ่อยเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจและจัดการกับปัญหาสิวได้ดีขึ้นกันค่ะ

ลักษณะและประเภทของสิวที่แก้ม

ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนว่าสิวที่แก้มมีลักษณะและประเภทอะไรบ้าง โดยสิวแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆซึ่งคือสิวอักเสบและ สิวไม่อักเสบ และที่แก้มของเรานั้นสามารถเกิดสิวได้ทุกประเภทเลยค่ะ เช่น  

สิวอุดตัน (Comedonal Acne) เป็นสิวที่ไม่อักเสบและเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้อีกหลายประเภท เช่น 

  • สิวหัวดำ (Blackheads)
  • สิวหัวขาว (Whiteheads) 

สิวอักเสบ (Inflammatory Acne) เป็นสิวที่เกิดจากการอักเสบมักจะมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ประกอบด้วย

  • ตุ่มนูนแดง (Papules)
  • ตุ่มหนอง (Pustules)
  • ตุ่มนูนลึกขนาดใหญ่ (Nodules)

สิวที่แก้มเกิดจากสาเหตุอะไร

สิวที่แก้มเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของการเกิดสิวที่แก้มมีหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งลักษณะทางกรรมพันธุ์ซึ่งบางคนอาจมีการสร้างน้ำมันบนผิวหน้ามากกว่าคนทั่วไป หรือ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ปัจจัยดังกล่าวอาจคุมได้ไม่ง่ายแต่ก็ยังมีปัจจัยที่เราควบคุมได้ไม่ยากเช่นกัน ด้านล่างหมอได้รวบรวมปัจจัยของการเกิดสิวที่แก้มเอาไว้ แนะนำให้อ่านต่อไปจนถึงการป้องกันและการรักษาช่วงท้ายเพื่อจะสามารถเข้าใจและดูแลตัวเองให้มีผิวหน้าที่ใสไกลสิวกันค่ะ 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดสิวที่แก้ม

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ช่วงใกล้มีประจำเดือน หรือสภาวะทางการแพทย์บางอย่าง สามารถเพิ่มการผลิตน้ำมันและทำให้เกิดสิว

  • อาหารการกิน

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงและผลิตภัณฑ์นมมีความเชื่อมโยงกับการเกิดสิว

  • การระคายเคืองผิวหนัง

ไม่ว่าจะจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหรือเครื่องสำอางที่ไม่เหมาะสมแล้วทำให้ผิวระคายเคืองและอุดตันรูขุมขนได้ หรือจากปัญหาฝุ่น และสิ่งสกปรกที่เผชิญในชีวิตประจำวัน

  • สิ่งสกปรกสัมผัสกับผิว
    บนสิ่งของที่ใช้ประจำ อาทิ โทรศัพท์ แปรงแต่งหน้า ปลอกหมอน ผ้าขนหนู เป็นต้น
  • ปัจจัยด้านวิถีชีวิต

ความเครียด การนอนไม่พอ และการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีสามารถส่งผลต่อการเกิดสิว

  • สาเหตุของสิวอุดตันจากหน้ากากอนามัย 

การสวมหน้ากากอนามัย หรือ N95 เป็นเวลานานทำให้เกิดการสะสมของความชื้นและเหงื่อบนผิวหน้า เพิ่มโอกาสการอุดตันในรูขุมขน และการกดของหน้ากากบนผิวทำให้เกิดการอักเสบและการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

การป้องกันสิวที่แก้มด้วยตนเอง

การดูแลและป้องกันการเกิดสิวที่แก้ม

จากสาเหตุข้างต้นจะเห็นว่าเราสามารถการป้องกันสิวที่แก้มได้โดยต้องอาศัยการดูแลผิวและวิถีชีวิตที่เหมาะสม คือ

  1. ล้างหน้าอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิววันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้การล้างหน้าให้สะอาดโดยใช้คลีนเซอร์และคลีนซิ่งในการช่วยทำความสะอาดผิวได้หมดจด ขจัดสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น ฝุ่นควัน ออกจากผิวหน้าได้ดียิ่งขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ ด้วยมือของเราอาจนำเชื้อแบคทีเรียและน้ำมันมาสู่ผิวหน้าได้ จนเกิดการระคายเคืองกลายเป็นสิวที่แก้ได้ ดังนั้นจึงควรระวังไม่ใช้มือจับหน้าหากไม่จำเป็น
  3. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอางควรเลือกชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือการระคายเคืองต่อผิว
  4. เปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อเริ่มสกปรกหรือมีความอับชื้น และเลือกแมสที่มีการระบายอากาศได้ดีเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียที่ผิวในระหว่างวัน
  5. ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า หรืออุปกรณ์การแต่งหน้าบ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการสะสมเชื้อแบคทีเรียบนผิวหน้า
  6. เปลี่ยนปลอกหมอนบ่อยๆ เพื่อช่วยลดการสะสมของสิ่งสกปรกและลดการเกิดสิวได้
  7. อาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานน้ำสะอาดให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงเพราะมีหลักฐานว่ามีส่วนทำให้เพิ่มระดับฮอร์โมน IGF-1 ซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างไขมันและการเจริญเติบโตของเคราติโนไซต์และเซโบไซต์ กระตุ้นการสังเคราะห์ฮอร์โมนแอนโดรเจนทำให้สิวมากขึ้นได้ 
  8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  9. นอนพักผ่อนให้เพียงพอและลดความเครียด เพื่อปรับฮอร์โมนให้สมดุล

วิธีการรักษาสิวที่แก้มโดยทั่วไป

วิธีรักษาสิวที่แก้ม

นอกจากการป้องกันแล้วสำหรับใครที่ตอนนี้มีสิวที่แก้มและต้องการเริ่มรักษา สามารถลองเริ่มโดยการรักษาด้วยตนเองหรือเข้ามาปรึกษาแพทย์ตามข้อมูลด้านล่างนี้ได้ 

1. การรักษาโดยทั่วไปไม่ใช้ยา

  • เลี่ยงการแต่งหน้า เพื่อเลี่ยงโอกาสสัมผัสส่วนผสมบางอย่างเช่น น้ำหอม พาราเบน ซึ่งจะก่อให้เกิดความระคายเคืองและผิวอุดตันมากขึ้น
  • เปลี่ยนหน้ากากอนามัยบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค
  • ใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารต่างๆ ที่ช่วยลดโอกาสการเกิดสิวและรักษาให้เม็ดสิวหายไวมากยิ่งขึ้น เช่น AHA,BHA, เรตินอล เป็นต้น
  • การใช้แผ่นแปะดูดสิว ซึ่งเป็นแผ่นที่ทำมาจากไฮโดรคอลลอยล์ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับของเหลวได้ดี สามารถช่วยให้สิวอักเสบยุบหรือแห้งไว

2. การรักษาสิวที่แก้มด้วยยา 

โดยทั่วไปหากสิวที่แก้มเป็นมากหรือเรื้อรังมักจำเป็นต้องใช้ยาทาและยารับประทานร่วมกัน

กลุ่มยาทาภายนอก 

  • เรตินอยด์เป็นอนุพันธ์ของวิตามิน A ที่ทำงานโดยการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ผิวหนัง เร่งการกำจัดน้ำมันในท่อไขมัน และช่วยขจัดสิวชนิด Micro comedone ได้ดี การใช้เรตินอยด์ในการรักษาสิวเป็นวิธีการเบื้องต้นที่มีประสิทธิภาพสูง โดยแนะนำ
  1. ใช้เรตินอยด์ในปริมาณเล็กน้อย (ขนาดเมล็ดถั่ว) ครอบคลุมทั่วใบหน้าในเวลากลางคืน
  2. ควรใช้ยาที่มีความเข้มข้นต่ำและเพิ่มปริมาณยาอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันการระคายเคือง
  3. ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีสารกันแดดเพื่อลดความไวต่อแสงแดด
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ทำงานโดยการทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรีย C. acnes ใช้ในการขจัดสิวหัวขาวและลดการอักเสบและช่วยป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรีย โดยการใช้ แนะนำให้
  1. เริ่มใช้ด้วยความเข้มข้นต่ำเพื่อป้องกันการระคายเคือง 
  2. ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์หลังใช้เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์เพื่อป้องกันผิวแห้ง
  3. ใช้ในปริมาณเล็กน้อยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสื้อผ้าและผม
  • กรดซาลิไซลิก มีคุณสมบัติในการขจัดสิวอุดตันหัวขาวได้ดีและสามารถหาซื้อ มีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5% ถึง 2% ทั้งแบบทิ้งไว้บนผิวและแบบล้างออก
  • ยาปฏิชีวนะชนิดทา เพื่อฆ่าเชื้อและลดการอักเสบจากการศึกษาและวิจัยจะเห็นว่าหากเป็นสิวระดับน้อยหรือปานกลางอาจไม่จำเป็นเพราะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นมากนัก

การใช้ยากลุ่มยารับประทาน คือ ยาปฏิชีวนะ, ยาคุมกำเนิดหรือยาต้านฮอร์โมน และไอโซเตรทติโนอินสำหรับกรณีรุนแรง ซึ่งกรณีการใช้ยารับประทานแนะนำควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากการเลือกใช้ยาจะมีความแตกต่างไปในแต่ละบุคคล 

3. การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ 

หากพบว่าการดูและทั่วไปหรือทายาไม่ทำให้สิวที่แก้มหายแนะนำเข้ามาปรึกษาทีมการแพทย์ เพื่อเข้าสู่แผนการรักษาที่เหมาะสมซึ่งจะพิจารณาการรักษาร่วมกับกระบวนการอื่นๆ เช่น

  • การลอกผิวด้วยสารเคมี และ การทำทรีทเมนท์หน้า เพื่อช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ขจัดเซลล์ผิวที่ตายและลดการเกิดสิว
  • การฉีดสิว คือ การฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในสิวหรือใต้ผิวหนัง เพื่อลดการอักเสบ และทำให้สิวหายเร็วขึ้นซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาสิวอักเสบขนาดใหญ่ และ สิวซีสต์  
  • การกดสิว ในกรณีที่เป็นสิวอุดตันสามารถใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยเปิดหัวสิวและทำการกดเอาหัวสิวออกมา
  • การรักษาด้วยแสง Photodynamic Therapy และ เลเซอร์ เช่น Dual yellow laser เป็นการรักษาโดยวิธีทางกายภาพที่มีหลักฐานการศึกษาสนับสนุนมากว่าลดสิวอักเสบได้ โดยช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวและลดการอักเสบและลดรอยแดงจากสิว 
  • การฉีดเมโสเพื่อช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมผิว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวที่แก้ม

สิวที่แก้มแต่งหน้าได้ไหม?

ในระหว่างการรักษาสิวที่แก้ม ควรงดแต่งหน้าเพราะส่วนประกอบในเครื่องสำอางอาจทำให้เกิดการอุดตันและระคายเคืองจนทำให้สิวอักเสบรุนแรงมากขึ้น การให้ผิวพักจากการแต่งหน้าจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิวที่แก้มรักษาไม่หายสักที เกิดจากอะไร?

สิวที่แก้มบางชนิดแม้จะรักษาหายแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เนื่องจากวิธีที่ใช้ยังไม่ตอบโจทย์ของปัญหา และอาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสิวที่แก้มให้หายขาดและไม่กลับมาเป็นซ้ำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และเลือกวิธีรักษาให้เหมาะสมมากที่สุด

เป็นสิวที่แก้มแล้วคันเพราะอะไร

อาการคันร่วมกันกับการเกิดสิวที่แก้มนั้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการอุดตันของผิวในช่วงที่มีสภาพอากาศที่ร้อนจึงทำให้รู้สึกคันระคายเคืองได้ วิธีรักษาคืองดการเกาเพราะจะทำให้สิวอักเสบมากกว่าเดิมร่วมกับการทายาแต้มสิว

สรุป 

สิวที่แก้มเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาดและการดำเนินชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้อันตรายรุนแรงแต่ควรรักษาอย่างถูกต้องเพราะเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำและหากการดูแลโดยทั่วไปไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพถึงต้นเหตุและป้องกันการเกิดรอยดำจากสิวต่อไป

แหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับข้อมูลสิวที่แก้ม

Tanghetti EA. (2013). “The role of inflammation in the pathology of acne”. Journal of Clinical and Aesthetic Dermatology. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3780801/

Eichenfield DZ, Sprague J, Eichenfield LF. Management of Acne Vulgaris: A Review. JAMA. 2021 Nov 23;326(20):2055-2067. doi: 10.1001/jama.2021.17633. PMID: 34812859. https://jamanetwork.com/journals/jama/article-abstract/2786495

บทความโดย

ลลิษาคลินิก : คลินิกรักษาสิว ดูแลโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านผิวหนัง (ตจวิทยา) ที่พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลปัญหาผิว

ใครที่กำลังเผชิญปัญหาผิวหน้า เป็นสิว ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้มากประสบการณ์ด้านผิวหนังที่ลลิษาคลินิกได้ ฟรี!! ที่ตั้งคลินิก เซ็นทรัลพระราม 9 ชั้น 9 (ติดบันไดเลื่อน)